รายการเด่น .

จำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี่ ออแกนิค organic thai riceberry ราคาถูก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ปลอดสารพิษ ไร้สารเคมี ผลิตจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ใหม่ ที่ปลูกในผืนนา ที่คัดสรร จากนาที่ดีที่สุดในพื้นที่ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูก จนถึง การบรรจุ เป็นกระบวนการที่ปลอดสารเคมี ไม่มีสารฆ่ามอด

ขายข้าวฟ่างทำขนมข้าวฟ่างหางม้า เป็นข้าวฟ่างที่มีเมล็ดเล็ก สีเหลือง ดุจเม็ดทราย เมื่อแช่น้ำและนำไปต้ม หรือ หุงแบบข้าวสวย จะได้เมล็ดข้าวฟ่างที่มีความอ่อนนุ่ม นิยมนำไปทำเป็นขนมข้าวฟ่างเปียก ข้าวฟ่างกวน หรือ หุงรับประทานแทนข้าวสวย

แก้วเกษตร ยินดีต้อนรับค่ะ

ร้านแก้วเกษตร เป็นร้านค้าออนไลน์ (ไม่มีหน้าร้าน) ให้บริการสินค้าแปรรูปทางการเกษตร หนังสือเพื่อความรู้ บริการส่งตรงถึงบ้านท่านทั่วไทย 08-3167-6716

สบู่สมุนไพรมะละกอ จากฟิลิปปินส์ | ชาสมุนไพร เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ | ผงสมุนไพร 100% บดละเอียด ปราศจากสารปรุงแต่งอื่น ๆ | น้ำมันพืชสมุนไพร สกัดเย็น เพื่อสุขภาพ | ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย| ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม




⁂ แก้วเกษตร ประชาสัมพันธ์ ค่ะ ⁂


Showing posts with label ฐานข้อมูลพืช. Show all posts
Showing posts with label ฐานข้อมูลพืช. Show all posts

เทคนิคการเพาะเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยในการงอกของเมล็ดพันธุ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์ Factors of Seed Germination and How To Cultivate Seed Plants


เมล็ดพันธุ์พืชแต่ละชนิด มีความยากง่ายในการงอกแตกต่างกัน การเพาะเมล็ดพันธุ์พืชนั้น บางครั้งอาจประสบปัญหา เมล็ดพันธุ์ไม่งอก หรือ อัตราการงอกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด ดังนี้



ปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด

1. เมล็ดพันธุ์พืชนั้นมีชีวิต ได้แก่เมล็ดพันธุ์พืชที่ยังไม่หมดอายุ เป็นเมล็ดที่มีการเติบโตที่สมบูรณ์ขณะอยู่บนต้นแม่ (ลักษณะเมล็ดไม่บิดเบี้ยว ผิดรูป) และ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธี

เมล็ดพันธุ์พืชที่ดี มีคุณภาพนั้น ควรมีอัตราการงอกสูง ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ โรค และ แมลง ให้ลำต้นที่แข็งแรง สามารถงอกได้เร็ว และผ่านระยะพักตัวของเมล็ดมาแล้ว

โดยพิจารณาที่เมล็ดพันธุ์นั้นควรเป็นเมล็ดที่แก่เต็มที่ มีความชื้นต่ำ อยู่ในช่วง 10-15% อยู่ในสภาวะนิ่ง กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ภายในเมล็ดน้อยมาก

2. น้ำ หรือ ความชื้น เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการกระตุ้นใ้ห้เมล็ดพันธุ์ตื่นตัว กระตุ้นการเกิดปฏิกิริยาเคมีและขบวนการเมแทบอลิซึม โดยน้ำทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนนุ่ม รากแทงผ่านเปลือกได้สะดวกขึ้น และ ยังช่วยให้อากาศ (ออกซิเจน)ผ่านเข้าสู่ภายในเมล็ดมากขึ้น

ความต้องการน้ำในการงอกของเมล็ดพืช มีความแตกต่างกันออกไป

พืชบางชนิด หากให้น้ำมากเกินไป จะทำให้เมล็ดพันธุ์พืช ขาดออกซิเจน และ เน่าได้

พืชบางชนิด หากให้น้ำมากเกินไป อาจทำให้พืช คืนสู่สภาวะพักตัวอีกครั้งหนึ่ง (ไม่งอก)

3. อากาศ (ออกซิเจน) เมื่อเมล็ดเริ่มงอก จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ไปใช้เผาผลาญอาหารภายในเมล็ดเปลี่ยนเป็นพลังงานใช้ในการงอก

การกลบดินทับเมล็ดหนาเกินไป หรือใช้ดินเพาะเมล็ด ที่ถ่ายเทอากาศไม่ดี จะมีผลยับยั้งการงอก หรือทำให้เมล็ดงอกช้าลง หรือไม่งอกเลย

4. แสงสว่าง โดยทั่วไปแสงสว่างไม่จำเป็นต่อการงอกนัก แต่สำหรับพืชบางชนิด แสงเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการงอก ในการเพาะพืชดังกล่าว จึงไม่ควรฝังกลบดินทับเมล็ดมากนัก พืชบางชนิด โดยเฉพาะพืชที่มีเมล็ดขนาดเล็ก นิยม โรยบนถาดเพาะ และ ใช้ดินละเอียดโรยบาง ๆ ปิดหน้า หรือ ไม่ต้องกลบเมล็ดเลย

เมล็ดพันธุ์พืชที่ต้องการแสงสำหรับการงอก เช่น ยาสูบ ปอกระเจา สตรอว์เบอร์รี่ ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม พริก มะเขือ มะเขือเทศ

เมล็ดพันธุ์บางชนิดอาจจะต้องการแสงเพียงเพื่อกระตุ้นการงอกในระยะใดระยะหนึ่งเท่านั้น

เมล็ดพันธุ์บางชนิด แสงจะเป็นตัวยับยั้งการงอก

เมล็ดพันธุ์พืชที่ไม่ต้องการแสงสำหรับการงอก ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง งา ปอแก้ว ถั่วเขียว ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วลาย ถั่วแขก ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดหัว แตงโม แตงกวา แตงเทศ บวบเหลี่ยม หอมหัวใหญ่






5. อุณหภูมิ (ความร้อนหนาว) เป็นปัจจัยที่สำคัญในการงอกของเมล็ด ในการเปลี่ยนอาหารมาเป็นพลังงาน เพื่อใช้ในการงอก ความแตกต่างของชนิดและถิ่นกำเนิดของพืช ทำให้พืชมีความต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการงอกที่แตกต่างกัน

อุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยให้เมล็ดดูดน้ำได้เร็วขึ้น กระบวนการในการงอกของเมล็ดเกิดขึ้นเร็ว และช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น

ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าระดับที่เหมาะสม ซึ่งเกินกว่าที่เมล็ดพันธุ์จะสามารถงอกได้ เมล็ดบางชนิดอาจจะมีการพักตัวหรือบางชนิดอาจจะเสียชีวิตได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับ การงอกของมะเขือเทศ คือ 20-30 oC (อุณหภูิมิไม่ต่ำกว่า 20 oC และ อุณหภูมิไม่สูงกว่า 40oC)
อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับ การงอกของแคนตาลูป คือ 20-30 oC (อุณหภูิมิไม่ต่ำกว่า 16 oC และ อุณหภูมิไม่สูงกว่า 50oC)
พืชในเขตเมืองร้อน ย่อมต้องการอุณหภูมิในการงอกสูงกว่า พืชในเขตเมืองหนาวเสมอ






ในกรณีที่พบว่า การควบคุมปัจจัยการงอกของเมล็ดพันธุ์พืชได้อย่างเหมาะสมแล้ว หากแต่เมล็ดพันธุ์กลับไม่งอก หรือ อัตราการงอกต่ำกว่าที่ควรจะเป็น อาจเป็นไปได้ว่า

1. เมล็ดพันธุ์กำลังอยู่ในระยะการฟักตัว นอนหลับ
2. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บในช่วงที่ไม่เหมาะสม (กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ถูกต้อง สมบูรณ์)
3. ดูแลต้นพันธุ์ที่เก็บเมล็ดมานั้นไม่ดี (กระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ไม่ถูกต้อง สมบูรณ์)
4. ภาชนะ และวิธีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม่ดี มีความชื้น (เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพไม่เหมาะสม)
5. เมล็ดพันธุ์ถูกเก็บไว้นานเกินไป (เมล็ดพันธุ์หมดอายุ)

จากสาเหตุข้างต้น ข้อที่ 2-5 จำเป็นต้องเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ใหม่ สำหรับสาเหตุข้อที่ 1 สามารถแก้ไขได้ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด



การเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ด

1. ลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก วิธีการนี้ ทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น กว่าวิธีการเพาะเมล็ดทั้งเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งวิธีการลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เป็นอันตรายต่อเมล็ดภายใน เพราะอาจทำให้การงอกของเมล็ดสูญเสียไปได้ พืชที่นิยมลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ได้แก่ มะม่วง


2. ฝนเมล็ด เป็นการทำให้เปลือกแข็งหุ้มเมล็ด เกิดเป็นรอยด้าน โดยการฝนเมล็ดลงบนกระดาษทราย หรือหินฝน ไม่ควรฝนลึกเกินไป และอย่าฝนตรงจุดที่เป็นที่อยู่ของคัพภะ(ส่วนที่จะงอกออก-จมูกเมล็ด) วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น

3. การกะเทาะเอาเมล็ดออก นิยมทำกับพืช ที่มีเมล็ดแข็ง เมื่อกะเทาะเปลือกหุ้มเมล็ดแตกออกแล้ว จึงค่อยนำเมล็ดอ่อนภายใน ไปทำการเพาะ วิธีนี้จะช่วยให้ เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าวิธีการเพาะแบบไม่กะเทาะเปลือกหุ้ม เมล็ดพืชที่จะต้องทำการกะเทาะเมล็ดก่อนเพาะ ได้แก่ บ๊วย พุทรา สมอจีน

4. การตัดปลายเมล็ด เป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยให้เมล็ดพืช งอกได้เร็วกว่าปกติ โดยตัดเปลือกหุ้มเมล็ดทางด้านตรงข้ามกับด้านหัวของคัพภะ และอย่าตัดให้เข้าเนื้อของเมล็ด นิยมใช้กับพืชที่มีเมล็ดแข็ง เช่น เหรียง หางนกยูงฝรั่ง ถั่ว

5. การแช่น้ำ การนำเมล็ดไปแช่น้ำ จะช่วยให้เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าปกติ ทั้งนี้เพราะน้ำ จะทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว จึงเป็นการช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น น้ำที่ใช้แช่อาจจะเป็นน้ำอุ่น หรือน้ำเย็น และช่วงเวลาการแช่ จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับชนิดพืช พืชบางชนิดใช้เวลานานถึง 1 – 2 วัน บางชนิดใช้เวลาประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง ทั้งนี้สังเกตจาก ขนาดของเมล็ดขยายใหญ่และเต่งขึ้น หรือเปลือกหุ้มเมล็ดนิ่ม ก็นำไปเพาะได้ พืชที่นิยมใช้วิธีนี้ ได้แก่ น้อยหน่า มะขาม มะละกอ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว ผักชี

เมล็ดพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับวิธีแช่น้ำร้อนหรือเย็น ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือ มะเขือเทศ ผักกาด แครอท หอมหัวใหญ่ พริก พริกไทย แตงกวา และดอกทานตะวัน

เมล็ดพันธุ์ที่ใช้วิธีแช่น้ำในการเพิ่มประสิทธิภาพการงอกไม่ได้ผล คือ ผักในตระกูลถั่ว ฟักทอง เพราะถั่วจะดูดซับน้ำได้ดี เมื่อแช่น้ำนานๆ ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อเมล็ดเสียหาย

เมล็ดผักในตระกูลถั่วจึงต้องแช่ในขี้เถ้าแกลบ/ผงถ่าน/ขี้เลื่อย/กระดาษทิชชู หรือผ้าที่ชุ่มน้ำ แทนการแช่ในน้ำโดยตรง วัสดุเหล่านี้จะคายน้ำออกมาช้าๆ ทำให้เมล็ดค่อยๆ ดูดซึมน้ำไว้ และค่อยๆ ฟื้นตัวจากการนอนหลับขึ้นมา









ที่มา
1. "การขยายพันธุ์พืช" กรมส่งเสริมการเกษตร
2. "การเพิ่มประสิทธิภาพการงอก ของเมล็ดพันธุ์" ชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน
3. โสภิตา คำหาญ, 2546, "การงอกของเมล็ดพันธุ์" ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี



Read more
 

ที่ทำการ แก้วเกษตร (ไม่มีหน้าร้าน) : 41/802 อาคารทวีบุญ หมู่ 7 ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 12120

☼แก้วเกษตร☼ Design by Insight © 2009